Food you must try
ไข่เค็มดินสอพอง
ซึ่งไข่เค็มดินสอพองต้นตำรับนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 มีชื่อว่าไข่เค็มดินสอพองแม่บ้านกองพันปฏิบัติการจิตวิทยาหรือไข่เค็มแม่บ้านพัน.ปจว. ผลิตโดยชมรมแม่บ้านกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หรือรู้จักกันดีในชื่อว่าชมรมแม่บ้านพันปจว.
จุดเด่นของไข่เค็มดินสอพองคือจะไม่เค็มมาก ไข่ขาวนิ่ม ไข่แดงมันเยิ้ม รสชาติมัน ๆอร่อยเสียจนคุณชายถนัดศรีได้มอบตราเชลล์ชวนชิมรับรองความอร่อยไว้ตั้งแต่ปี 2533
ชมรมแม่บ้านพัน.ปจว.เลือกใช้แต่ไข่เป็ดใหม่สดฟองโตเป็นไข่เป็ดไล่ทุ่งจากอ.บ้านหมี่ นำมาจุ่มหรือชุบในโคลนเหนียวสีเทาอมขาวที่ทำจากดินสอพองผสมเกลือทะเลป่นและน้ำ จากนั้นนำไปคลึงกลบด้วยขี้เถ้าแกลบจนทั่วฟอง แล้วบรรจุในถุงพลาสติกเพื่อรักษาความชื้น
พอมีอายุ 3-7 วัน ก็นำไปทำอาหารได้หลากหลาย ทั้งเป็นไข่เค็มดาว ไข่เจียว ไข่พะโล้ ไข่ตุ๋น โดยไม่ต้องปรุงน้ำปลาเพิ่ม ซึ่งถ้าพอกมาถึง 7 วันแล้ว ให้แกะดินสอพองที่พอกออก แล้วแช่ตู้เย็นจะได้ไม่เค็มเกินไป ซึ่งอายุ 7-20 วันเหมาะสำหรับทำไข่เค็มต้มสุก ไข่แดงหอมมันเยิ้ม ๆ ส่วนร้านซาลาเปาและร้านข้าวต้มนั้นชอบให้ไข่แดงมีรสชาติเค็ม ๆ ก็จะพอกไว้นานหน่อยเป็นเวลา 22 วัน
ผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปอย่างเช่น "ปลาร้าทรงเครื่อง" และ "ปลาส้มทอด"คือเมนูเด็ดขึ้นชื่อของจังหวัดใครมาถึงแล้ว เป็นต้องสั่งและเครื่องปรุงหาได้ง่ายในทุกท้องถิ่นทานคู่กับผักสดหรือผักลวกตามชอบ เป็นอีกเมนูหนึ่งที่นอกจากอร่อยแล้วยังดีต่อสุขภาพ
ทั้งส้มฟักกับปลาส้มเป็นอาหารของชาวไทยพวน และเป็นอาหารท้องถิ่นของอำเภอบ้านหมี่ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยพวนขนาดใหญ่ การทำส้มคือการถนอมอาหารด้วยการหมัก ส้มฟักเป็นการหมักเนื้อปลาด้วยเกลือ ข้าวสุกบด และกระเทียมดองนำมานวดจนแน่นเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะคล้ายกับแหนมปลา มักใช้ปลากราย ปลาสลด ปลายี่สก ใช้เวลาหมัก 3 วัน จึงพร้อมรับประทาน หรือนำไปปรุงอย่างอื่นก็ได้ ขณะที่ปลาส้มใช้ปลาตะเพียนขอดเกล็ดคลุกเกลือ คว้านท้องควักเครื่องในออกมาแล้วนำข้าวสุกผสมกระเทียมใส่เข้าไปในท้องปลาหมักจนได้ที่ เวลารับประทานนำมาทอด มีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวเล็กน้อย อร่อยเลิศมาก สินค้าเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในอำเภอบ้านหมี่และอำเภอเมืองลพบุรี ที่มีชื่อเสียงคือ ปลาส้มฟักแม่ชมกลิ่น ปลาส้มฟักประกอบจิตร์ ปลาส้มฟักป้าแอ๊วลพบุรี ปลาส้มฟักแม่น้อย ปลาส้มฟักสมพร